Translate

การเสียบยอด

ที่ผ่านมาในอดีตการปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยนิยมปลูกโดยใช้กิ่งตอนหรือกิ่งปักชำ โดยคิดว่าต้นเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว ไม่ได้นึกถึงปัญหาในเรื่องของระบบรากที่ไม่แข็งแรงเพราะมีแต่รากฝอย เมื่อต้นมะนาวเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่มักจะพบปัญหาว่าต้นมะนาวทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ภาระเลี้ยงผลมาก อีกทั้งกิ่งตอนมะนาวเกือบทั้งหมดที่ขยายพันธุ์มาปลูกมักจะมีโรคไวรัสทริสเทซ่าและโรคกรีนนิ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นมะนาวทรุดโทรมเร็ว ผลผลิตต่ำและมีอายุสั้นลง อีกทั้งยังพบปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าและรากเน่าได้ง่าย
การทำสวนมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอนนั้นอายุไม่ยืนยาว เฉลี่ยอายุประมาณ 3-5 ปีก็ตาย เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกใหม่ ถ้าคิดการลงทุนปลูกใหม่ก็มีค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่คิดจะลงทุนปลูกมะนาวแป้นอย่างยั่งยืน โดยที่มะนาวจะมีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ควรจะใช้ต้นตอส้มต่างประเทศ เช่น ทรอยเยอร์สวิงเกิลโวลคา-เมอเรียน่า ฯลฯ เป็นต้นตอ ซึ่งมีข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าต้านทานโรครากเน่าและโคนเน่าได้ดี เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรงและมีรากแก้ว
มีงานวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี ได้มีการศึกษาถึงอิทธิพลของต้นตอส้มบางชนิดที่มีต่อการเจริญเติบโตของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพด้วยวิธีการนำกิ่งมะนาวพันธุ์แป้นรำไพมาเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศ ผลจากศึกษาและวิจัยพบว่ากิ่งพันธุ์มะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เสียบยอดบนต้นตอส้มทรอยเยอร์ (Troyer) มีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตมากที่สุด กิ่งพันธุ์มะนาวแป้นรำไพที่เสียบยอดไปมีการเจริญเติบโตสูงสุดในด้านความยาวกิ่งแขนง
เทคนิคในการเสียบยอดให้ใช้ต้นตอส้มทรอยเยอร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ตัดยอดต้นตอส้มให้สูงจากพื้นดินประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นนำกิ่งมะนาวพันธุ์แป้นรำไพหรือแป้นดกพิเศษเสียบยอดด้วยวิธีการผ่าลิ่มให้แผลมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ยอดที่เสียบจะแตกยอดใหม่ออกมา
ในปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ล่าสุดพบว่า การใช้ต้นตอส้มต่างประเทศที่มีชื่อว่า โวลคา-เมอเรียน่า ซึ่งเป็นพืชตระกูลส้มในกลุ่มของเลมอน เมื่อนำยอดมะนาวแป้นดกพิเศษมาเสียบบนต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่าจะเจริญเติบโตเร็วมากและให้ผลผลิตเร็วมาก ปลูกไปเพียงปีเศษเท่านั้น ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ใช้มะนาวเสียบยอดบนต้นตอโวลคา-เมอเรียน่า ได้รับการยอมรับว่าดีจริงและเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้
สรุปได้ว่า ต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่า มีความเหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นต้นตอและนำยอดมะนาวมาเสียบ ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบปัญหามหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน เกษตรกรที่ปลูกมะนาวโดยใช้กิ่งตอน พอน้ำท่วมขังเพียงไม่กี่วัน พบว่าต้นมะนาวยืนต้นตายเกือบทั้งหมด ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกต้นมะนาวโดยใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศรอดตายหลายรายเนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง
สรุปข้อดีของการปลูกมะนาวบนต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่า ได้ดังนี้ ลำต้นแข็งแรงทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง แม้จะเอาใจใส่น้อยก็ตาม เพราะมีระบบรากที่หากินเก่ง แม้จะเป็นดินลูกรังก็เจริญเติบโตได้ดี หรือในสภาพดินปนหิน ลดการเกิดโรคแคงเกอร์ โรคนี้ถือเป็นโรคประจำตัวของมะนาว โดยเฉพาะถ้าปลูกด้วยกิ่งตอน ในช่วงปีแรกเกษตรกรต้องเฝ้าดูแลรักษาโรคนี้เพราะพันธุ์มะนาวแป้นจะอ่อนแอต่อโรคมาก
แต่ว่าปลูกด้วยต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่าแล้วเอามะนาวแป้นดกพิเศษมาเสียบ การเกิดโรคนี้ลดลงไปอย่างมาก ลดการใช้ยาป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ไปได้มาก การใช้สารเคมีพ่นจาก 7-10 วัน อาจห่างเป็น 15 วัน ต่อครั้งลดการใช้ไม้ค้ำช่วงติดผลดก หากปลูกด้วยกิ่งจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำรอบทรงพุ่ม ถ้าคิดเป็นพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้ไม้นับพันอัน คิดเป็นเงิน 5,000-6,000 บาท หากปลูกด้วยกิ่งเปลี่ยนยอดแทบจะไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ เนื่องจากความแข็งแรงของกิ่งก้าน ทรงต้น สามารถแบกรับน้ำหนักผลมะนาวในต้นได้ โดยมิต้องใช้ไม้ค้ำช่วย และบังคับออกนอกฤดูง่าย ติดผลดก
ต้นที่เปลี่ยนยอดจะขยันออกดอกอย่างเห็นได้ชัด เกษตรกรเช็กข้อมูลได้ง่ายๆ โดยนำกิ่งมะนาวเสียบยอดไปปลูกแทรกในแถวมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอน ก็จะสังเกตได้ชัดว่าออกดอกง่ายกว่า สันนิษฐานว่าเกิดจากระบบลำเลียงน้ำและอาหารอาจไม่สะดวก โดยเฉพาะตรงรอยต่อ ทำให้มีผลต่อการออกดอกง่ายขึ้น และบริเวณโคนที่เป็นต้นตอส้มเหนือพื้นดินจะทนต่อการใช้ยาฆ่าหญ้า หากฉีดพ่นโดนบ้างก็ไม่เป็นไร กรณีโคนต้นรกมากกำจัดวัชพืชไม่ทัน จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าช่วยจะประหยัดแรงงานได้มาก
เป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนี้ตลาดมีความต้องการมะนาวพันธุ์แป้นรำไพและพันธุ์แป้นดกพิเศษมากที่สุด และการเลือกใช้กิ่งพันธุ์มะนาวได้เปลี่ยนจากการใช้กิ่งตอนมาใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงและอายุยืนยาวกว่าปลูกด้วยกิ่งตอน
การจัดการสวนที่ถูกต้องเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการผลิตมะนาวนอกฤดู สิ่งที่ชาวสวนมะนาวและนักวิชาการเกษตรไม่ควรมองข้ามในการบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูนั้น เรื่องของการจัดการสวนเป็นหัวใจที่มีความสำคัญ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
หนึ่ง โครงสร้างของดิน ดินที่มีลักษณะเป็นทราย มีการระบายน้ำที่ดีจะมีผลทำให้การชักนำการออกดอกได้ดีกว่าดินที่อุ้มน้ำสูงและดินเหนียว
สอง ขนาดของพุ่มต้น ควรเตรียมแปลงปลูกในลักษณะของแนวแถวยกสูงเป็นแบบลูกฟูกอันที่จะช่วยให้เกิดการระบายน้ำได้ดีขึ้น การชักนำการออกดอกจะง่ายกว่า
สาม ขนาดของพุ่มต้น มะนาวที่มีขนาดพุ่มต้นที่เล็กกว่าสามารถชักนำการออกดอกเพื่อการผลิตนอกฤดูได้ดีกว่า ต้นตอบสนองต่อสภาพการงดน้ำได้เร็วมากขึ้น (ใช้เวลาสั้นกว่า)
สี่ การปฏิบัติเพื่อชักนำการออกดอก ควรจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและนิสัยการออกดอก กิ่งมะนาวจะไม่มีการออกดอกหากว่ากิ่งนั้นยังคงมีผลติดอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำลายดอกหรือผลในช่วงที่ไม่ปรารถนาออกทิ้งไปก่อน กิ่งจึงจะสามารถออกดอกได้ การเปลี่ยนแปลงจากตาใบไปเป็นตาดอกยังสามารถควบคุมได้ด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุโพแทสเซียม (K) สูงในระยะที่ตาผลิก่อน มีความยาวยอดมากกว่า 7.5 เซนติเมตร การพ่นปุ๋ยทางใบที่มี ธาตุN:P:K ในสัดส่วน 1:1:3 ; 1:1:4 ; 1:1:5 หรือ 1:2:5
ในระยะยอดอ่อนผลิจะมีบทบาทช่วยให้การสร้างตาดอกดีมากยิ่งขึ้น และสุดท้าย การป้องกันการกำจัดศัตรูพืช  ศัตรูพืชที่สำคัญของมะนาว ได้แก่ เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ไรแดง และโรคแคงเกอร์ เป็นต้น หากใบถูกทำลายความสมบูรณ์ของต้นจึงลดลง ทำให้ออกดอกลดลงตามไปด้วย
เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูแบบต่างๆ  ปัจจุบันมีเทคนิคในการผลิตมะนาวนอกฤดูหลายๆ วิธี ทั้งภาคเกษตรกรและนักวิชาการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องใช้หลายๆ วิธีเข้ามาใช้ร่วมกัน ดังนี้
หนึ่ง การปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาว มะนาวมีการออกดอกในฤดูกาลใหญ่ 2 ระยะ รวมทั้งกิ่งที่มีผลผลิตติดอยู่ก็ไม่สามารถออกดอกได้ดีตามต้องการ จึงจำเป็นต้องกำจัดดอกและผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลนั้นทิ้งไปเสียก่อน การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดดอกและผลอ่อนออกไปได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกด้วย ซึ่งไม่ควรตัดลึกมาก ควรจำกัดอยู่ที่ปลายกิ่งระดับ 5-10 เซนติเมตร สามารถกำจัดดอกและผลอ่อนที่เหลือโดยการฉีดพ่นสารเอทีฟอนที่ความเข้มข้น 300 ppm พ่นในระยะดอกบาน กลีบดอกโรย รวมถึงระยะผลอ่อน
สอง การยับยั้งการออกดอกของต้นมะนาวในฤดู สารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีชื่อว่า จิบเบอเรลลิกแอซิด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า จิบเบอเรลลิน” มีคุณสมบัติช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่งใบในไม้ยืนต้น ใช้พ่นเพื่อยับยั้งการออกดอก
สาม การกำจัดใบ ต้นมะนาวที่สมบูรณ์มาก มีพุ่มต้นแน่นทึบ หรือมีลักษณะที่เรียกว่า บ้าใบ การปลิดใบออกบ้างบางส่วน อาจมีผลในด้านการลดระดับไนโตรเจนในต้นให้ลดต่ำลง อันเป็นการช่วยปรับระดับของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับของไนโตรเจน หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า ซี/เอ็นเรโช (C/N ratio) ให้สูงขึ้น อาจช่วยให้มีการออกดอกดีขึ้นได้ และ
สี่ การใช้สารเคมี สารในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโต เช่น สารแพคโคลบิวทราโซล มีบทบาทในการยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินในธรรมชาติของต้นพืช ดังนั้น พืชจึงมีการเจริญทางกิ่งใบลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการออกดอกมากขึ้น แนะนำให้ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซลชนิดความเข้มข้น 10% ในอัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ชาวสวนมะนาวไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวนอกฤดู ที่พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ชาวสวนไม่มีความตั้งใจจริง โดยเฉพาะในวงจรที่ 2 ถ้าต้นมะนาวจะมีผลผลิตเต็มต้นในทุกกิ่ง โอกาสชักนำให้ออกดอกในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้ธรรมชาติของมะนาวและส้มจะไม่มีการออกดอกจากกิ่งที่มีผลติดอยู่
สอง ชาวสวนมะนาวโดยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวงจรการออกดอก-ติดผลของมะนาวอย่างแท้จริง ทำให้ไม่อาจนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ได้
สาม ชาวสวนผู้ปลูกมะนาวหวังพึ่งเพียงกรรมวิธีที่เป็นสูตรสำเร็จอย่างง่ายๆ และ
ประการสุดท้าย สภาพต้นมะนาวขาดความสมบูรณ์ ไม่เหมาะสมสำหรับการผลิตมะนาวนอกฤดูจำเป็นต้องใช้หลายๆ กรรมวิธีมาประมวลร่วมกันจึงจะได้ผลดี จากประสบการณ์ที่ได้เคยแนะนำให้ชาวสวนปฏิบัติมักได้ผลไม่มากนักตามที่คาดหวัง เนื่องจากชาวสวนยังคงยึดถือวิธีที่ได้กระทำกันอยู่