เทคนิคการเลือกซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว?
รศ.ดร. รวี : ควรเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรค 2 ชนิด คือ
1. โรคทริสเตซ่าไวรัส (CTV) เนื่องจากมะนาวไทยอ่อนแอต่อโรคนี้มากที่สุด หากติดโรคนี้ ต้นมะนาวมีอาการใบเหลือง หลุดร่วงง่าย หรือเกิดอาการยางไหลออกมาจากเปลือกของลำต้น ต้นมะนาวจะโทรมและแห้งตายในที่สุด ส่วนใหญ่โรคนี้มักจะติดมากับกิ่งตอนหรือต้นตอที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือเกิดจากแมลงและเพลี้ยอ่อนบางชนิดเข้ามากัดกินหรือดูดอาหารจากต้นมะนาว
2. โรคแคงเกอร์ ลักษณะอาการเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วน ทั้งใบ กิ่ง ก้าน และผล มีอาการเป็นแผลกลมๆ และขยายใหญ่ขึ้นๆ และจะแตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบแผล เมื่อโรคลามขึ้น ต้นจะแคระแกร็น ใบร่วง และแห้งตายในที่สุด
หากโรคแคงเกอร์เข้าสวนมะนาวเมื่อไหร่ คนปลูกตายไปแล้ว แต่โรคแคงเกอร์จะมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน เพราะแคงเกอร์เป็นเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่เชื้อรา ยาที่มีอยู่ทั้งหมดไม่สามารถรักษาแคงเกอร์ได้ แม้แต่คอปเปอร์ ก็ปราบโรคแคงเกอร์ไม่ได้ เมื่อนำไปโรยจะทำให้รอยแผลไม่ขยายกว้างขึ้นเท่านั้น ส่วนใบที่เป็นโรค ติดเชื้อแบคทีเรียก็หลุดร่วงลงดิน ตามทฤษฎีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะมีชีวิตฝังตัวอยู่ในดินประมาณ 3 เดือน แต่ในความเป็นจริง เชื้อแบคทีเรียจะฝังตัวอยู่ในดินตลอดชีวิต เพราะมีผลและใบใหม่ที่เป็นโรคแคงเกอร์หลุดร่วงลงดินตลอดเวลา
กิ่งพันธุ์เป็นโรค มีข้อสังเกตอย่างไร?
รศ.ดร. รวี : สำหรับกิ่งพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัส หากอาการไม่รุนแรงจะมองไม่เห็น ส่วนต้นมะนาวที่ติดเชื้อแคงเกอร์จะสังเกตอาการได้ง่าย การรักษาที่พอช่วยได้คือ การตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไม่ให้ขยายพันธุ์ พยายามอย่าให้ผลเกิดบาดแผล และป้องกันแมลงที่เป็นพาหะ เช่น หนอนชอนใบ และแมลงกลุ่มคาร์บาริล มาลาไธออน ซึ่งกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่า
ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ต้นตอสำหรับมะนาว เพราะฉะนั้น การโฆษณาขายกิ่งพันธุ์ที่ใช้ต้นตอพันธุ์ดี ขายในราคาแพงขึ้น อย่าเพิ่งเชื่อคนขายร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องต้นตอ กรณีที่เราผลิตได้ ไม่ได้หมายความว่า มันจะอยู่ได้ดี เพียงแค่มันไม่ตาย ส่วนจะดีหรือไม่ดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง