Translate

ศูนย์พัฒนาเกษตรภูสิงห์ ศรีษะเกษ



นายระพีทัต อุ่นจิตรพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัด จ.ศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ศรีสะเกษ ว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องแปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 38 ไร่ บริเวณทางเข้าศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ โดยมีการพิจารณาจากปัญหาพื้นฐานด้านการเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดทำแปลงสาธิต ซึ่งพบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ในพื้นที่มีมากถึง 50% ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ไร่ เพราะฉะนั้นการทำเกษตรแบบเกษตรเชิงเดี่ยวจึงทำให้อยู่ไม่ได้ เพราะปีหนึ่งต้องรอผลผลิตเพียงครั้งเดียว หากราคาผลผลิตตกต่ำก็เป็นหนี้เป็นสินทันที ที่สำคัญในพื้นที่ไม่มีโครงการชลประทาน

เพราะฉะนั้นในแปลง 38 ไร่ จึงกำหนดให้เป็นแปลงเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำเกษตรแบบผสมผสานหลาย ๆ อย่าง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ มีการพัฒนาแหล่งน้ำใช้แหล่งน้ำที่พัฒนาเป็นบ่อปลา มีการปลูกข้าวหอมมะลิ รูปแบบของข้าวปลอดสารพิษ ใช้พื้นที่ 13 ไร่ มีการปลูกพืชยืนต้นเป็นทุเรียน  1 ไร่ อนาคตจะเพิ่มเป็น 3 ไร่ โดยเพิ่มชนิดพืชมี เงาะ มะไฟ ส้มโอ มะกอกน้ำ สะตอ ยางพารา ยางนา และที่สำคัญจะมีมะนาวนอกฤดู ที่ปลูกเป็นรายได้เสริมภายในสวนอีกด้วย

พื้นที่ส่วนหนึ่ง ใช้ปลูกพืชล้มลุก เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก  เพราะพืชแต่ละชนิดจะให้ผลผลิตไม่พร้อมกัน อันจะทำให้ราษฎรสามารถมีรายได้จากพื้นที่การเพาะปลูกตลอดทั้งปี

ในส่วนของพืชล้มลุกนั้นจะเน้นเป็นพิเศษเพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตลอดทั้งปี นอกเหนือจากมีกินมีใช้ในครอบ ครัวแล้ว หากมีการบริหารจัดการในการเพาะปลูกอย่างถูกหลักวิชาการ และเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่  ในแปลงสาธิตจะมีทั้งพริก สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ดอกชมจันทร์ ดอกขจร ผักแขยง  ผักกูด ต้นคูน เป็นต้น

“ปัจจุบันรายได้จากแปลงสาธิตที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นแม่แบบให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้เห็นแล้วนำกลับไปทำในพื้นที่ของตนเอง สามารถยืนยันให้กับเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมได้เป็นอย่างดี ด้วยปัจจุบัน รายได้จากส่วนนี้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในโครงการแทบทั้งหมด นับตั้งแต่  ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแรงเจ้าหน้าที่ประจำแปลง เมื่อเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่าเขาสามารถนำต้นแบบไปจัดการกับแปลงปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนจากเกษตรกรที่ขายผลผลิตได้แบบรายปี มาเป็นเกษตรกรที่มีรายได้ทุกวันและต่อเนื่องทั้งปี” นายระพีทัต  กล่าว

ในการขยายผล จะมีการอบรมการเพาะปลูกเช่นนี้แก่ราษฎรทั้งในพื้นที่และที่ขอเข้ามาเรียนรู้  2 เรื่องด้วยกัน คือ เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวทางการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพในการเพาะปลูก การใช้สารไตโคเดอมาในการควบคุม ป้องกัน กำจัด โรคแมลง ซึ่งปลอดภัยจากสารพิษ และหลักสูตรการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของราษฎร

เกษตรกรหรือราษฎรโดยทั่วไปสนใจต้องการเรียนรู้และศึกษารูปแบบการทำการเกษตรเช่นนี้เข้าศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์พัฒนา การเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.

ข่าวจากไทยรัฐ