Translate

การตลาดบทที่4

วัสดุปลูก  ชนิดของวัสดุปลูกอาจผสมเองขึ้นมาโดยอาศัยวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างมากมายในประเทศไทยและมีราคาถูก เช่น ขุยมะพร้าว (coconut coir)        ถ่านแกลบ (มีสีดำซึ่งต่างจากขี้เถ้าแกลบที่มีสีขาวปนเทา) (charred husk )  แกลบดิบ (rice husk ) และทราย (sand)  อย่างไรก็ตาม  ควรคำนึงถึงราคาของวัสดุแต่ละชนิดด้วย ในทางปฏิบัติแล้ว หากมีความยุ่งยากก็อาจใช้ดินผสมสำเร็จรูปก็ได้ แต่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ผสมด้วย วัสดุสำหรับปลูกมะนาวนั้น ควรเป็นวัสดุที่มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารหรือแพร่กระจายสารละลายธาตุอาหาร ความชื้นมีความสามารถในการดูดซับน้ำได้ดี ต้องมีคุณสมบัติทางกายภาพที่มีความแข็ง ยุบตัวน้อยรักษาสภาพได้นานและมีการระบายอากาศได้ดี ส่วนคุณสมบัติทางเคมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือค่าความเป็นกรด ด่างของวัสดุปลูกค่าความเป็นกรดด่างนั้นจะไม่ทำความเสียหายแก่พืชโดยตรงแต่จะส่งผลกระทบต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารแก่มะนาวและควบคุมกิจกรรมการทำงานของจุลินทรีย์ การปรับโครงสร้างดินให้มีการระบายน้ำและอากาศได้ดี ทำได้โดยการจัดการตั้งแต่เริ่มเตรียมพื้นที่ โดยใช้ทรายหยาบ แกลบ ถ่านแกลบ ขุยมะพร้าว หรือวัสดุอื่นที่หาง่ายในพื้นที่    เช่น  ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ผสมให้เข้ากันก่อนปลูกมะนาวลงในห่วงซีเมนต์

สัดส่วนของวัสดุ คุณสมบัติของความสามารถในการอุ้มน้ำของวัสดุแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การใช้สัดส่วนของวัสดุปลูกชนิดต่างๆ กันก็ย่อมมีผลต่อการอุ้มน้ำและการระบายน้ำของวัสดุโดยตรงซึ่งย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของระบบรากอย่างแน่นอน  สัดส่วนที่มีขุยมะพร้าวและถ่านแกลบสูงจะมีการอุ้มน้ำที่ดีขึ้น  ความถี่ของการให้น้ำจึงสามารถเว้นช่วงได้ยาวนานมากขึ้นซึ่งเหมาะสมต่อช่วงฤดูแล้ง ในทางกลับกัน  หากวัสดุสามารถอุ้มน้ำได้สูงและมีฝนตกชุกต่อเนื่องหรือมีการให้น้ำมากจนเกินควร ก็อาจเกิดภาวะน้ำขัง (waterlogging) ของระบบรากได้  รากขาดออกซิเจน  มีอาการใบเหลือง ร่วงหล่น ผลหลุดร่วง ต้น ทรุดโทรมและตายได้ในที่สุด หากสัดส่วนของวัสดุมีทรายในปริมาณที่สูงขึ้น  การระบายน้ำก็จะดียิ่งขึ้น  มีโอกาสชักนำให้เกิดการออกดอกได้ง่ายขึ้น  ในขณะที่ความถี่ของการให้น้ำก็จำเป็นต้องเพิ่มให้มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน


การจัดวางระบบน้ำ
เนื่องจากการปลูกไม้ผลเหล่านี้ กระทำกันในชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด บ้านเรือนส่วนใหญ่มีระบบน้ำประปาทุกครัวเรือน  การให้น้ำกับพืชที่ปลูกจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง มิฉะนั้นแล้วต้นไม้อาจชะงักการเจริญเติบโตได้ ผลอาจแคระแกรนและหลุดร่วงได้   การให้น้ำนี้นับเป็นความน่าเบื่อหน่ายของหลายท่าน แต่เป็นสิ่งจำเป็นต้องกระทำ  เมื่อเป็นดังนั้นแล้วจึงควรที่จะจัดวางระบบการให้น้ำที่ช่วยบรรเทาในสิ่งเหล่านี้ได้  ซึ่งอาศัยแรงดันจากก๊อกน้ำภายในบ้านและจัดวางโดยอาจใช้หัวชนิดพ่นฝอย (mini-sprinkler) หรือหัวผีเสื้อ หรือหัวน้ำหยด (drip nozzle)  ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

 การควบคุมทรงพุ่ม
จากสภาพของพื้นที่ที่จำกัดดังกล่าว  การควบคุมขนาดของต้นไม้จึงจำเป็นต้องเตรียมการไว้แต่เริ่มแรก  โดยกำหนดขนาดของพุ่มต้นที่ต้องการไว้  เช่น  3.5  เมตร 4 เมตรหรือ 5 เมตร  การปลูกในภาชนะที่มีปริมาตรจำกัด ก็เป็นทางหนึ่งของการควบคุมระบบรากไปในตัวด้วย  ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมทรงพุ่มด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้  เพราะในส่วนของระบบรากและส่วนยอดนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (root-shoot interrelationship) ในทางกลับกันการควบคุมทรงพุ่มก็ส่งผลต่อการควบคุมปริมาณรากด้วยเช่นกัน  ดังนั้น  จึงควรกระทำการจัดโครงสร้างของกิ่ง (training) โดยการโน้มกิ่งลง  หรือการตัดแต่ง (pruning) เพื่อควบคุมปริมาณของกิ่งและลดการเจริญของกิ่งที่จะเจริญขึ้นในแนวดิ่ง (โดยวิธีการตัดยอดเพื่อกระตุ้นให้แตกตาข้าง) ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการควบคุมทรงพุ่มให้ได้ตามขอบเขตของขนาดที่ได้วางเป้าหมายไว้

สภาพแวดล้อม ต้นไม้สร้างอาหารจากกระบวนการสังเคราะห์แสงเท่านั้น  ดังนั้น หากปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงามากมีการบดบังแสงจากอาคารเป็นส่วนใหญ่แล้ว ย่อมส่งผลให้ต้นไม้เติบโตช้าลง ต้นอาจยืดยาวไม่แข็งแรง  โอกาสที่จะออกดอกและติดผลย่อมลดลงตามไปด้วย

นายสามารถ เศรษฐวิทยา เศรษฐวิทยา  ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน http://www.gotoknow.org/


บทต่อไป <=คลิก

กลับไปสารบัญ  <=คลิก