ไผ่ชนิดนี้ เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบ เกาะสุมาตรา ชวา และ บอร์เนียว แล้วกระจายปลูกทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยนิยมปลูก “ไผ่สีสุก” มาแต่โบราณแล้ว ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน ทางด้านทิศตะวันออกหรือทิศบูรพา เพราะมีความเชื่อว่า เป็นไม้มงคลเมื่อปลูกแล้วจะทำให้เจ้าของและคนในครอบครัวมีความสุขความเจริญตามชื่อที่ถูกเรียกขาน
นอกจาก ความเชื่อดังกล่าวแล้ว หน่อของ “ไผ่สีสุก” ยังกินได้ทั้งสดและดองเปรี้ยวปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง รสชาติกรอบอร่อยมาก ลำไผ่ใช้ก่อสร้าง จักสาน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำไม้คานหามมีความทนทานสูง โดยเฉพาะ ลำไผ่ ใช้ทำข้าวหลามเผาแล้วข้าวหลามจะสุกเสมอกันทั้งกระบอก ข้าวไม่แฉะนิ่มเหนียวรับประทานอร่อยมาก
ในส่วนของสรรพคุณทางสมุนไพร แพทย์ตามชนบทนิยมใช้ใบไผ่ปรุงเป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดูที่เสียในสตรี ตาของลำไผ่สุมไฟเป็นถ่านกินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ราก มีรสกร่อยเฟื่อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ และใช้รวมกับยาขับโลหิตระดูสตรีและยาแก้หนองในได้
ไผ่สีสุก หรือ BAMBUSA BLUMEANA J.H.SCHULTES ชื่อสามัญ SPINY BAMBOO, THOMY BAMBOO, THORNY BRANCH BAMBOO. ลักษณะทั่วไปคล้ายไผ่ป่า ขึ้นเป็นกอแน่น เส้นผ่าศูนย์กลางของลำไผ่ 5-15 ซม. ปล้องยาว 15-50 ซม. เนื้อลำไผ่หนา 1-3.5 ซม. ลำแก่เป็นสีเขียวอมเหลือง โคนกอมีกิ่งเรียวยาวอัดกันแน่น มีหนามแข็ง กาบหุ้มเป็นสีเหลือง หน่อสีน้ำตาล น้ำหนักของหน่อประมาณ 2–5 กิโลกรัมต่อหน่อ ซึ่งหน่อรับประทานเป็นอาหารได้ตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ