ไผ่ชนิดนี้ มีแหล่งที่พบครั้งแรกที่ บ้านหนองโดน ต.กุดดู่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งในตอนนั้นพบเพียง 2 กอ ต่อมาได้ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าไปปลูกในพื้นที่ 7 ไร่ หลังปลูก 5 ปี ต้นไผ่บางต้นมีดอก จึงคัดเลือกต้นที่งอกจากเมล็ด เอาเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ไปปลูกจนต้นโต มีความโดดเด่นคือ
ต้นโตเร็ว ให้หน่อขนาดใหญ่ขึ้น ออกหน่อดก มีหน่อตลอดทั้งปี ทรงพุ่มของกอโปร่ง กิ่งแขนงบริเวณข้อมีน้อย ใบมีขนาดใหญ่ ข้อปล้องห่าง ต้นสูง 10-12 เมตร จึงถูกตั้งชื่อ ตามแหล่งที่พบว่า “ไผ่หวานหนองโดน” โดย กรมวิชาการเกษตร ออกหนังสือรับรองพันธุ์ ใน วันที่ 5 ต.ค.55 ที่ผ่านมา
ไผ่หวานหนองโดน มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ BABUSA BURMANICA อยู่ในวงศ์ POACEAE วงศ์ย่อย BAM-BUSOIDEAE เจริญเติบโตเต็มที่ในปีที่ 5 หลังปลูก หน่อมีน้ำหนักเฉลี่ย 0.5–2.00 กิโลกรัมต่อหน่อ เปลือกหุ้มหน่อค่อนข้างหนาแข็ง มีขนน้อย เนื้อในหน่อสีขาวรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก
คุณสมบัติพิเศษ ของหน่อ “ไผ่หวานหนองโดน” เป็นไผ่ชนิดเดียวที่สามารถรับประทานแบบสดๆได้โดยไม่ต้องนำไปต้มก่อน เนื่องจากเนื้อของหน่อไม่มีสาร “ไซยาไนด์” เช่นหน่อไม้ชนิดอื่น ซึ่งผู้ขายกิ่งพันธุ์บอกว่า มีใบรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วย สามารถใช้มีดเฉาะเนื้อกินเป็นผักสดกับน้ำพริกชนิดต่างๆได้ สับปรุงเป็นส้มตำแทนเนื้อมะละกอ หรือนำไปทำแกงจืดกระดูกหมูรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก ซึ่งหน่อของ “ไผ่หวานหนองโดน” กำลังเป็นที่นิยมของผู้รับประทานและนิยมปลูก อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน