ว่านน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทาง การว่า CALAMUS/MYRTLE GRASS ACORUS CALAMUS LINN. อยู่ในวงศ์ ARACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 เมตร พบขึ้นในที่มีน้ำท่วมขังหรือริมน้ำทั่วไป ลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเหง้าหรือรากเลื้อยในแนวขนานกับพื้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นแผงคล้ายกับใบของ ว่านหางช้าง ผิวใบเรียบรากเหง้ามีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว ดอก ออกเป็นช่อแทงขึ้นจากเหง้าเป็นรูปทรงกระบอกที่ปลายก้านช่อยาวประมาณ 3-5 ซม. คล้ายแท่งธูป แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยเรียงเบียดกันหนาแน่นจำนวนมาก ดอกเป็นสีเขียวปนเหลือง ดอกบริเวณปลายเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ “ผล” เป็นผลสด ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น หรือเหง้า
ประโยชน์ ตำรายาไทยใช้เหง้าหรือรากกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ขับลม ขับเสมหะ แต่ถ้ากินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม จะทำให้อาเจียน จึงนิยมใช้ประโยชน์เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยกินสารพิษหรืออาหารเป็นพิษต้องการขับพิษหรือสารพิษออกจากทางเดินอาหารด้วยการให้อาเจียน ชาวอินเดีย ใช้รากปรุงเป็นยาระบายและเป็นยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงวัน ใบสดของ “ว่านน้ำ” ตำละเอียดใส่น้ำเล็กน้อยพอกศีรษะแก้ปวดศีรษะได้ พอกแก้ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อดีมาก ตำผสมกับใบ “ชุมเห็ด” ทาแก้โรคผิวหนังเด็ดขาดจริงๆ
อย่างไรก็ตาม รากหรือเหง้า ของ “ว่านน้ำ” พบว่ามีน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเฉพาะตัวคือสาร B-ASARONE มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ แต่มีรายงานว่าสารดังกล่าวเป็นพิษต่อ “ตับ” และทำให้เกิด “มะเร็ง” จึงควรระวังในการกินหรือใช้